ประวัติโรงเรียนชุมชนบ้านพุเตย
โรงเรียนชุมชนบ้านพุเตย เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2502 โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดพุเตยประสิทธิ์เป็นสถานที่ทำการสอน เปิดเรียนชั้น ป.1- 4
- ปี พ.ศ. 2509 ย้ายนักเรียนทั้งหมดมาเรียน ณ ที่อยู่ปัจจุบันนี้ มีบริเวณเนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน
- ต่อมาในปี 2523 ประชาชนร่วมมือกันซื้อที่ดินขยายพื้นที่ของโรงเรียนเพิ่มเติมอีกรวมเป็นเนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา
- ปี พ.ศ. 2511 ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการสอนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ป.5-7
- ปี พ.ศ. 2515 ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนชุมชนแห่งแรกของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อ โรงเรียนชุมชนบ้านพุเตย และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบันนี้
- ปี พ.ศ. 2537 ได้รับอนุญาตให้เปิดเรียนโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา ม.1 - 3
การเรียนการสอน การจัดการศึกษา เปิดสอน 3 ระดับ คือ ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
- ระดับก่อนประถมศึกษา มีการจัดประสบการณ์โดยส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนา ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา อย่างครบถ้วนและเหมาะสมกับวัย กิจกรรมสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนอาคารเรียนให้พร้อมใช้
- ระดับประถมศึกษา ได้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร ส่งเสริมพัฒนาวิธีการสอนของครูให้มีประสิทธิภาพ เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนโดยเน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริงกล้าคิด กล้าตัดสินใจ และมีความรับผิดชอบ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าพอใจ จะต้องเร่งพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น สภาพปัญหาที่มีผลกระทบต่อการเรียนการสอนของนักเรียนคือปัญหาครอบครัว นักเรียนขาดการเอาใจใส่ดูแลจากทางบ้าน ขาดเรียนบ่อยทำให้เป็นปัญหา ต่อการจัดการเรียนการสอน
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร ส่งเสริมพัฒนาวิธีการสอนของครูให้มีประสิทธิภาพ เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ มีการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น ส่งเสริมการเรียนโดยเน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และมีความรับผิดชอบ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่ยังต้องเร่งพัฒนาคุณภาพให้สูงขึ้นกว่าเดิม สภาพปัญหาที่มีผลกระทบต่อการเรียนการสอนของนักเรียนคือปัญหาครอบครัว นักเรียนขาดการเอาใจใส่ดูแลจากทางบ้าน ขาดเรียนบ่อย ทำให้เป็นปัญหา ต่อการจัดการเรียนการสอน